วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

มะกรูด





มะกรูด

ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystrix DC.
ชื่อวงศ์ RUTACEAE
ชื่อสามัญ Leech Lime, Mauritius Papeda, Kaffir Lime, Porcupine Orange
ชื่อท้องถิ่น ภาคเหนือ เรียก มะขูด, มะขุน ภาคใต้ เรียก ส้มกรูด, ส้มมั่วผี เขมร เรียก โกร้ยเขียด กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียก มะขู


ลักษณะทั่วไป มะกรูดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้าน ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ใบ เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดียว สีเขียวหนา มีลักษณะคอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน ใบสีเขียวแก่ค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ดอก ออกเป็นกระจุก 3–5 ดอก กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ผล มีหลายแบบแล้วแต่พันธุ์ผลเล็กเท่ามะนาว ผิวขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่หัว
การปลูก มะกรูดปลูกได้ดีในดินทุกชนิด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
สรรพคุณทางยา
ผิวผลสดและผลแห้ง รสปร่า หอมร้อน สรรพคุณแก้ลมหน้ามืด แก้วิงเวียน บำรุงหัวใจ ขับลมลำไส้ ขับระดู ผล รสเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต ใช้สระผมทำให้ผมดกดำ ขจัดรังแค ราก รสเย็นจืด แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ แก้ลมจุกเสียด น้ำมะกรูด รสเปรี้ยว กัดเสมหะ ใช้ดองยามีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิตสำหรับสตรี
ใบ รสปร่าหอม แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ช้ำใน และดับกลิ่นคาว คติความเชื่อ มะกรูดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน โดยกำหนดปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) เพื่อผู้อยู่อาศัย จะได้มีความสุข และในบางตำราว่าเป็นความเชื่อของคนบ้านป่า ที่เดินทางด้วยเกวียนเทียม โคหรือกระบือเมื่อได้กลิ่นสาบเสือ จะหยุดเดิน เจ้าของจะต้องขูดผิวมะนาวหรือมะกรูด ป้ายจมูกให้ดับกลิ่นสาบเสือก่อน โค กระบือจึงจะเดินต่อไป ดังนั้นการเดิน ทางสมัยก่อนผ่านป่า ผู้เดินทางจึงมักจะพกพามะนาว และมะกรูดติดตัวไปด้วยเสมอ ในพิธีกรรมการทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ สำหรับพรมหรืออาบผู้ป่วยใบมะกรูดเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้ โดยใช้ร่วมกับใบส้มป่อย ใบเงินใบทอง ใบมะตูม หญ้าแพรก หมากผู้หมากเมีย ใบราชพฤกษ์ เชื่อกันว่าใบจากต้นไม้มงคลเหล่านี้จะช่วยปัดเป่าและบรรเทาเคราะห์โศกลงไปได้

ไม่มีความคิดเห็น: